Wednesday, February 27, 2008
ศิลปะคืออะไร ลีโอ ตอลสตอย เขียน สิทธิชัย แสงกระจ่าง แปล พิมพ์โดย สำนักพิมพ์โอเพน
http://www.combangweb.com/memberpic/pam270208whatisart_s.jpg
ศิลปะคืออะไร ลีโอ ตอลสตอย เขียน
สิทธิชัย แสงกระจ่าง แปล
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์โอเพน
ราคาปกเล่มละ 375 บาท
สิทธิชัย แสงกระจ่าง ก็คือ คนเดียวกับ ดลสิทธิ์ บางคมบาง นั่นเองค่ะ
ผู้แปลเขียนถึง ศิลปะคืออะไรไว้ ดังนี้ค่ะ
ศิลปะคืออะไร
จากผู้แปล
หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายได้สร้างแนวรบด้านวัฒนธรรมด้วยการชูธง “ศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน” และพยายามทำให้เป็นทฤษฎีด้วยการอ้างอิงงานเขียนในอดีตที่มีสาระในทางที่อาจกล่าวว่ามีเป้าหมายเพื่อชีวิต เพื่อประชาชน พร้อมทั้งเคลื่อนไหวให้การสร้างงานศิลปะทุกประเภทเป็นไปในทิศทางนี้ ในการนี้จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนสำคัญคนหนึ่งมักถูกหยิบยกขึ้นอ้างอิงอยู่เสมอ
หลักการส่วนหนึ่งซึ่งถูกนำมาอ้างมีที่มาจากความเรียงที่ชื่อว่า ศิลปะคืออะไร ของลีโอ ตอลสตอย ที่จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เริ่มแปลส่วนหนึ่งและทิ้งค้างไว้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการอ้างอิงดังกล่าวนั้นเป็นไปโดยยกเอาเฉพาะส่วนที่จิตรทำไว้เท่านั้น ไม่มีการนำตัวทฤษฎีหรือข้อเขียนโดยเต็มของตอลสตอยมาศึกษาให้เป็นไปอย่างลึกซึ้ง ทั้งเหล่าผู้เคลื่อนไหวก็ไม่มีใครสนใจนำฉบับเต็มมาเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้กันแต่อย่างใด
เป็นที่เข้าใจได้ ในสถานการณ์ที่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น ชัยชนะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทุกฝ่ายจึงหยิบยกเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาเป็นอาวุธเพื่อไปสู่ชัยชนะ เพราะในการต่อสู้ที่เป็นการเมือง บางครั้งการโกหกและการใส่ร้ายป้ายสีก็ถูกยกมาเป็นเครื่องมืออย่างดูเหมือนเป็นความชอบธรรมที่จะกระทำต่อศัตรู ด้วยเหตุนี้แนวทางศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อประชาชนจึงได้รับการขานรับอย่างกว้างขวาง และเป็นกระแสหลักในการสร้างงานศิลปะของฝ่ายซ้ายและแนวร่วมสืบเนื่องยาวนานเกือบสองทศวรรษ โดยมิได้มีการตรวจสอบหรืออภิปรายถกเถียงกันให้เป็นไปอย่างรอบด้านแต่อย่างใด
จนเมื่อหลังการเกิดขึ้นของ โลกหนังสือ ที่มี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ จึงเริ่มมีการพยายามต่อสู้ทางความคิด เพื่อให้เกิดการหันกลับมามอง และผลักดันให้ศิลปะมีแนวทางไปในทางเป็นตัวนำการเมือง แทนจะให้การเมืองเป็นตัวนำอย่างที่เป็นกระแสอยู่
ในช่วงเวลานั้นเอง ผู้แปลเห็นว่าสมควรได้มีการศึกษาความเรียงของลีโอ ตอลสตอย ชิ้นที่เป็นตัวอ้างถึงแนวทางศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน แทนจะอ้างอิงกันอย่างเลื่อนลอย จึงได้เสาะหาและนำต้นฉบับ What Is Art? มาแปลเป็นภาษาไทย และมอบให้กองบรรณาธิการนิตยสาร ถนนหนังสือ นำไปจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๘
แม้ทั้งที่การแปลเป็นไปอย่างเร่งรีบและมีข้อบกพร่องอยู่มาก ศิลปะคืออะไร ในคราวพิมพ์ครั้งแรกก็ได้รับการต้อนรับไม่น้อย จนต่อมาสำนักพิมพ์คมบาง ได้นำมาจัดพิมพ์อีกเป็นครั้งที่สอง โดยมีการแก้ไขปรับปรุงขึ้น และเช่นกัน แม้จะเป็นไปโดยช้าๆ มีการตอบรับที่ดี จนในที่สุดก็หมดไปจากตลาด และยังเป็นที่หาซื้อกันอยู่
ในคราวพิมพ์ครั้งที่สาม โดย สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊ค นี้ ทางสำนักพิมพ์ได้เพิ่มเติมขึ้นอีกด้วยการพิมพ์รูปเหล่านักคิดนักเขียนและศิลปินที่อ้างถึงในเล่ม ซึ่งผู้แปลเห็นว่าช่วยเพิ่มคุณค่าแก่หนังสือเล่มนี้ขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักหน้าค่าตาพวกเขาเสริมเพิ่มขึ้นจากบทบาทและงานที่กล่าวถึงไว้เป็นตัวอักษร อันจะช่วยให้เกิดการสนใจติดตามตัวงาน ความคิด และบทบาทของพวกเขา และยังความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในพัฒนาการของศิลปะโลก
นับจากการพิมพ์ครั้งมา กล่าวโดยเนื้อหาของความเรียงชุดนี้แล้ว ผู้แปลได้ยินคำวิจารณ์ไปต่างๆกันหลายประการ มีทั้งที่ชื่นชมคารวะในการให้ความกระจ่างแก่ความเข้าใจในเรื่องศิลปะได้อย่างแจ่มชัด และทึ่งในความทุ่มเทที่ผู้เขียนได้พยายามติดตามศึกษาบุคคล ความคิด ทฤษฎี และตัวงานศิลปะมาอย่างกว้างขวาง แล้วเรียบเรียงออกมาได้อย่างมีพลัง และมีทั้งที่แสดงอาการดูถูกเหยียดหยามต่อสิ่งที่ลีโอ ตอลสตอย ได้นำเสนอออกมาในงานของเขา แต่โดยประการหลังนี้ผู้แปลรู้สึกว่าจะเป็นไปเพื่อยกตนขึ้นว่าเป็นผู้มีรสนิยมและมีหลักคิดบรรเจิดกว่าเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรเป็นสาระทางวิชาการแต่อย่างใด
ไม่ว่าใครจะมีความคิดต่อความเรียงชุดนี้อย่างไร มีข้อโต้แย้งกับผู้เขียนขนาดไหน โดยส่วนตัวผู้แปลก็ยังเห็นว่านี่เป็นความเรียงชิ้นสำคัญชุดหนึ่งของโลก ซึ่งผู้คนในแวดวงศิลปะทุกคนควรมีไว้ เพื่อศึกษาทำความเข้าใจถึงความคิดของผู้เขียน เพื่อให้เกิดมุมมองหรือความคิดใหม่ๆในทางศิลปะ เพื่อรู้จักบุคคล ความคิด และผลงานของเหล่านักคิดนักเขียน และศิลปินรุ่นที่เคยมีมาก่อนหน้า และเพื่อเปิดสายตาตัวเองให้กว้างไกลไปกว่าแวดวงเล็กๆที่ตนสังกัดอยู่
เหล่านี้นับว่าคุ้มค่ายิ่งกว่าใดๆแล้ว ที่จะได้มีความเรียงชุดนี้ไว้เป็นของตน.
ธันวาคม ๒๕๕๐
บ้านซับตาเมา หนองตาคง โป่งน้ำร้อน จันทบุรี.
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment