Wednesday, February 27, 2008

ศิลปะคืออะไร ลีโอ ตอลสตอย เขียน สิทธิชัย แสงกระจ่าง แปล พิมพ์โดย สำนักพิมพ์โอเพน



http://www.combangweb.com/memberpic/pam270208whatisart_s.jpg

ศิลปะคืออะไร ลีโอ ตอลสตอย เขียน
สิทธิชัย แสงกระจ่าง แปล

พิมพ์โดย สำนักพิมพ์โอเพน
ราคาปกเล่มละ 375 บาท

สิทธิชัย แสงกระจ่าง ก็คือ คนเดียวกับ ดลสิทธิ์ บางคมบาง นั่นเองค่ะ
ผู้แปลเขียนถึง ศิลปะคืออะไรไว้ ดังนี้ค่ะ

ศิลปะคืออะไร

จากผู้แปล
หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายได้สร้างแนวรบด้านวัฒนธรรมด้วยการชูธง “ศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน” และพยายามทำให้เป็นทฤษฎีด้วยการอ้างอิงงานเขียนในอดีตที่มีสาระในทางที่อาจกล่าวว่ามีเป้าหมายเพื่อชีวิต เพื่อประชาชน พร้อมทั้งเคลื่อนไหวให้การสร้างงานศิลปะทุกประเภทเป็นไปในทิศทางนี้ ในการนี้จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนสำคัญคนหนึ่งมักถูกหยิบยกขึ้นอ้างอิงอยู่เสมอ

หลักการส่วนหนึ่งซึ่งถูกนำมาอ้างมีที่มาจากความเรียงที่ชื่อว่า ศิลปะคืออะไร ของลีโอ ตอลสตอย ที่จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เริ่มแปลส่วนหนึ่งและทิ้งค้างไว้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการอ้างอิงดังกล่าวนั้นเป็นไปโดยยกเอาเฉพาะส่วนที่จิตรทำไว้เท่านั้น ไม่มีการนำตัวทฤษฎีหรือข้อเขียนโดยเต็มของตอลสตอยมาศึกษาให้เป็นไปอย่างลึกซึ้ง ทั้งเหล่าผู้เคลื่อนไหวก็ไม่มีใครสนใจนำฉบับเต็มมาเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้กันแต่อย่างใด

เป็นที่เข้าใจได้ ในสถานการณ์ที่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น ชัยชนะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทุกฝ่ายจึงหยิบยกเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาเป็นอาวุธเพื่อไปสู่ชัยชนะ เพราะในการต่อสู้ที่เป็นการเมือง บางครั้งการโกหกและการใส่ร้ายป้ายสีก็ถูกยกมาเป็นเครื่องมืออย่างดูเหมือนเป็นความชอบธรรมที่จะกระทำต่อศัตรู ด้วยเหตุนี้แนวทางศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อประชาชนจึงได้รับการขานรับอย่างกว้างขวาง และเป็นกระแสหลักในการสร้างงานศิลปะของฝ่ายซ้ายและแนวร่วมสืบเนื่องยาวนานเกือบสองทศวรรษ โดยมิได้มีการตรวจสอบหรืออภิปรายถกเถียงกันให้เป็นไปอย่างรอบด้านแต่อย่างใด

จนเมื่อหลังการเกิดขึ้นของ โลกหนังสือ ที่มี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ จึงเริ่มมีการพยายามต่อสู้ทางความคิด เพื่อให้เกิดการหันกลับมามอง และผลักดันให้ศิลปะมีแนวทางไปในทางเป็นตัวนำการเมือง แทนจะให้การเมืองเป็นตัวนำอย่างที่เป็นกระแสอยู่

ในช่วงเวลานั้นเอง ผู้แปลเห็นว่าสมควรได้มีการศึกษาความเรียงของลีโอ ตอลสตอย ชิ้นที่เป็นตัวอ้างถึงแนวทางศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน แทนจะอ้างอิงกันอย่างเลื่อนลอย จึงได้เสาะหาและนำต้นฉบับ What Is Art? มาแปลเป็นภาษาไทย และมอบให้กองบรรณาธิการนิตยสาร ถนนหนังสือ นำไปจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๘

แม้ทั้งที่การแปลเป็นไปอย่างเร่งรีบและมีข้อบกพร่องอยู่มาก ศิลปะคืออะไร ในคราวพิมพ์ครั้งแรกก็ได้รับการต้อนรับไม่น้อย จนต่อมาสำนักพิมพ์คมบาง ได้นำมาจัดพิมพ์อีกเป็นครั้งที่สอง โดยมีการแก้ไขปรับปรุงขึ้น และเช่นกัน แม้จะเป็นไปโดยช้าๆ มีการตอบรับที่ดี จนในที่สุดก็หมดไปจากตลาด และยังเป็นที่หาซื้อกันอยู่

ในคราวพิมพ์ครั้งที่สาม โดย สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊ค นี้ ทางสำนักพิมพ์ได้เพิ่มเติมขึ้นอีกด้วยการพิมพ์รูปเหล่านักคิดนักเขียนและศิลปินที่อ้างถึงในเล่ม ซึ่งผู้แปลเห็นว่าช่วยเพิ่มคุณค่าแก่หนังสือเล่มนี้ขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักหน้าค่าตาพวกเขาเสริมเพิ่มขึ้นจากบทบาทและงานที่กล่าวถึงไว้เป็นตัวอักษร อันจะช่วยให้เกิดการสนใจติดตามตัวงาน ความคิด และบทบาทของพวกเขา และยังความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในพัฒนาการของศิลปะโลก

นับจากการพิมพ์ครั้งมา กล่าวโดยเนื้อหาของความเรียงชุดนี้แล้ว ผู้แปลได้ยินคำวิจารณ์ไปต่างๆกันหลายประการ มีทั้งที่ชื่นชมคารวะในการให้ความกระจ่างแก่ความเข้าใจในเรื่องศิลปะได้อย่างแจ่มชัด และทึ่งในความทุ่มเทที่ผู้เขียนได้พยายามติดตามศึกษาบุคคล ความคิด ทฤษฎี และตัวงานศิลปะมาอย่างกว้างขวาง แล้วเรียบเรียงออกมาได้อย่างมีพลัง และมีทั้งที่แสดงอาการดูถูกเหยียดหยามต่อสิ่งที่ลีโอ ตอลสตอย ได้นำเสนอออกมาในงานของเขา แต่โดยประการหลังนี้ผู้แปลรู้สึกว่าจะเป็นไปเพื่อยกตนขึ้นว่าเป็นผู้มีรสนิยมและมีหลักคิดบรรเจิดกว่าเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรเป็นสาระทางวิชาการแต่อย่างใด

ไม่ว่าใครจะมีความคิดต่อความเรียงชุดนี้อย่างไร มีข้อโต้แย้งกับผู้เขียนขนาดไหน โดยส่วนตัวผู้แปลก็ยังเห็นว่านี่เป็นความเรียงชิ้นสำคัญชุดหนึ่งของโลก ซึ่งผู้คนในแวดวงศิลปะทุกคนควรมีไว้ เพื่อศึกษาทำความเข้าใจถึงความคิดของผู้เขียน เพื่อให้เกิดมุมมองหรือความคิดใหม่ๆในทางศิลปะ เพื่อรู้จักบุคคล ความคิด และผลงานของเหล่านักคิดนักเขียน และศิลปินรุ่นที่เคยมีมาก่อนหน้า และเพื่อเปิดสายตาตัวเองให้กว้างไกลไปกว่าแวดวงเล็กๆที่ตนสังกัดอยู่

เหล่านี้นับว่าคุ้มค่ายิ่งกว่าใดๆแล้ว ที่จะได้มีความเรียงชุดนี้ไว้เป็นของตน.
ธันวาคม ๒๕๕๐

บ้านซับตาเมา หนองตาคง โป่งน้ำร้อน จันทบุรี.

Wednesday, September 19, 2007

คุณนายดัลโลเวย์ ออกทันงานหนังสือเดือนตุลาคมนี้แน่นอน

รอคอยกันมาเป็นปี ในที่สุดผลงานแปลเล่มใหม่ ก็ได้รับการยืนยันว่า จะออกทันงานหนังสืออนตุลาคม 2550 นี้แน่นอน

ซึ่งงาน มีขึ้น วันที่ 17- 28 ตุลาคม คมบางบู๊ท N 54 ซี 1 ชั้นล่าง


ผลงานแปลเล่มใหม่ คือ นวนิยายเรื่อง Mrs Dalloway ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf)



ก่อนอื่น มาทำความรู้จัก เวอร์จิเนีย วูล์ฟกันก่อน

Virginia Woolf
1882 -1941
ชาวอังกฤษ นักเขียนนวนิยายแนวทดลอง นักวิจารณ์ นักเขียนเรื่องสั้น นักเขียนความเรียง ชั้นนำในยุคสมัยของเธอ
เกิดในย่าน Hyde Park Gate ปี 1882

เจ็บป่วยทางจิตใจครั้งแรกจากความตายของพ่อของเธอ Sir Leslie Stephen ในปี 1904 หลังจากนั้นย้ายมาอยู่ย่าน Bloombery เกิดกลุ่มวรรณกรรมในชื่อเดียวกันจากกลุ่มเพื่อนนักเขียนและศิลปินที่คบหา รวมทั้งร่วมกับสามี Leonard Woolf ตั้งสำนักพิมพ์ Hogarth Press ที่มีชื่อเสียงขึ้นในปี 1917 ด้วย


เธอทำงานในช่วงสงบจากการเจ็บป่วยทางจิตใจเป็นระยะๆ มีผลงานอย่างต่อเนื่อง นวนิยายสองเรื่องแรกยังเป็นในรูปแบบตามนิยมกันมาก่อนหน้า จนเมื่อ Jacob’s Room ปรากฏขึ้นในปี 1922 จึงได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นงานที่มีนวัตการอย่างสูง จากนั้น Mrs Dolloway (1925) ก็ได้รับการวิจารณ์ว่าพัฒนาขึ้นอย่างมากด้วยวิธีเขียนที่ใช้บทสนทนาภายใน (Interior Monologue) หรือกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) และเน้นบุคลิกตัวละครมากกว่าเค้าโครงเรื่อง


หลังจากนั้นมาก็มี To the Lighthouse (1927) The Waves (1931) Between the Acts (1941) และอื่นๆ นอกจากนั้นเธอยังมีงานเขียนประเภทความเรียง ข้อเขียนแนวสตรีนิยม งานเชิงชีวประวัติ และเรื่องสั้น ตลอดจนบทความวิจารณ์อื่นอย่างต่อเนื่องมากมายด้วย


จากการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในที่สุดเธอก็ฆ่าตัวเองด้วยการจมน้ำตาย ในปี1941.

จาก ดลสิทธิ์ บางคมบาง :งานแปลเล่มใหม่ล่าสุด คุณนายดัลโลเวย์






Mrs Dalloway เคยเป็นภาพยนตร์มาเมื่อหลายปีก่อน นำแสดงเป็น Mrs Dalloway โดยดารารุ่นใหญ่ Vanessa Redgrave และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีภาพยนตร์ดัดแปลงและเสริมต่อเรื่องราวจากวรรณกรรมเรื่องเดียวกันนี้ ในชื่อ The Hours นำแสดงเป็น Virginia Woolf ผู้เขียน โดยดาราดัง Nicole Kidman ซึ่งเป็นที่ต้อนรับไม่น้อย และนักอ่านคอวรรณกรรมคงได้ผ่านตากันมาแล้วว่าไปแล้วชื่อของ Virginia Woolf เป็นที่กล่าวขวัญและรู้จักกันดีในแวดวงวรรณกรรมไทยมาเนิ่นนาน ในฐานะนักเขียนแนวกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) ผู้มีผลงานอันน่าทึ่ง เป็นที่กล่าวขวัญและอยู่ในความนิยมของนักอ่านทั่วโลกมานานยาว เพียงแต่ผลงานของเธอไม่มีผู้ใดแปลออกมาเป็นภาษาไทยเท่านั้น

ในการแปลครั้งนี้จึงเป็นความพยายามของผู้แปลในอันจะให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จักตัวเนื้องานของนักเขียนคนสำคัญคนหนึ่งของศตวรรษที่ยี่สิบผู้นี้ และ คุณนายดัลโลเวย์ เล่มที่ท่านถืออยู่นี้จึงเป็นผลงานเล่มแรกของเธอที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย

Virginia Woolf เป็นนักเขียนชาวอังกฤษ ร่วมสมัยเดียวกันพอดีกับ James Joyce นักเขียนชาวไอริช ซึ่งมีผลงาน A portrait of an Artist as a Young Man และ The Dubliners แปลเป็นภาษาไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยทั้งคู่นี้ต่างเกิดในปี ๑๘๘๒ และเสียชีวิตในปี ๑๙๔๑ ด้วยกันนักเขียนแนวกระแสสำนึกอีกคนในฟากยุโรปตะวันออก ที่ร่วมสมัยเดียวกันกับ Virginia Woolf และมีผลงานแปลเป็นภาษาไทยหลายเล่มหลายสำนวนด้วยกัน เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักอ่านคอวรรณกรรม ได้แก่ Franz Kafka (๑๘๘๓ – ๑๙๒๔)

นักอ่านที่ผ่านการอ่านงานเขียนของ Kafka มาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในสำนวนแปลของผู้แปลในชื่อเล่ม ในความนิ่งนึก คงจะพอคุ้นเคยกับการอ่านงานเขียนในแนวกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) มาบ้าง และคงพบมาแล้วถึงความแตกต่างจากงานเขียนของนักเขียนอื่นโดยทั่วไป คุณนายดัลโลเวย์ เล่มนี้ก็เช่นนั้น และอาจเป็นปัญหาอยู่บ้างสำหรับนักอ่านที่ยังไม่คุ้น แต่ผู้แปลเชื่อว่า เมื่อได้อ่านลึกเข้าไปในตัวเรื่องแล้ว เขาจะพบว่านี่เป็นประสบการณ์ในการอ่านที่แตกต่างอย่างยิ่ง โดยผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงชีวิตภายในของตัวละคอนได้ลึกกว่างานประเภทอื่นๆที่เขาได้เคยอ่านมา ทั้งเหมือนจะเสริมให้เขาต้องใช้จิตนาการที่ลึกมากขึ้นในการจะรับรสวรรณกรรมให้เป็นไปโดยเต็ม

และก่อนเข้าสู่การอ่าน ผู้แปลขอชี้แจงเกี่ยวกับการใช้วรรค -ซึ่งนักอ่านบางคนอาจเห็นว่ามีมากเกินไป น่าจะรวบเข้าด้วยกันได้โดยไม่เสียความ- ว่า ผู้แปลใช้วรรคด้วยความมุ่งหมาย ๑) แยกคำไม่ให้สับสน ๒) คั่นความที่แทรกเข้ามา ๓) ทอดเสียงท้ายคำที่ทิ้งวรรคให้ไปรับกับคำที่ตามมา ๔) เป็นจังหวะให้กับเสียงของความคิด เช่นจังหวะของคลื่นทะเล ตามจังหวะของกระแสสำนึก ดังนั้นในการอ่านจึงอาจต้องทอดสายตาไปหาคำที่รับความกันกับคำในท้ายวรรคอยู่บ้าง ซึ่งจากการอ่านไปได้สักระยะก็จะจับกฎเกณฑ์ได้โดยง่ายผู้แปลหวังไว้กับตัวเองว่าจะมีโอกาสนำผลงานของ Virginia Woolf เรื่องอื่นๆมาเสนออีกได้ในโอกาสข้างหน้า


สิงหาคม ๒๕๕๐
ซับตาเมา โป่งน้ำร้อน จันทบุรี.

Thursday, December 14, 2006

ณ โป่งน้ำร้อน



ดลสิทธิ์ บางคมบาง
โป่งน้ำร้อน
จันทบุรี

Monday, December 11, 2006